Tuesday, April 15, 2014

การสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่องพันธุศาสตร์ (Genetics)

วัตถุประสงค์
1.  เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษของครูผู้สอน
2.  เพื่อพัฒนาสื่อและเอกสารประกอบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเรื่อง Genetics
3.   เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผ่านการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในวิชาวิทยาศาสตร์  
4.  เพื่อสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษโดยใช้ครูไทย
ผลการศึกษา
               ผลในการศึกษาครั้งแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ
1.  ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนซึ่งแบ่งออกเป็น
1.1  การเปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียน (Pretest) และหลังเรียน (Posttest)
1.2  ผลการทดสอบความรู้ภาคภาษาไทย
2.  ด้านผลการประเมินความคิดเห็นนักเรียน
                ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน          
จากผลการศึกษาพบว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียน (Pretest) มีค่าเฉลี่ย 14.28 จาก คะแนนเต็ม 30 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 47.60 ซึ่งมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ (ร้อยละ50) และคะแนนทดสอบหลังเรียน (Posttest) มีค่าเฉลี่ย 21. 75 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.50 ของคะแนนเต็ม และเมื่อทำการทดสอบทางสถิติด้วยค่า t-test พบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (0.05)
ผลการทดสอบวัดความรู้ภาคภาษาไทย
ค่าเฉลี่ยของคะแนนทดสอบความรู้ภาคภาษาไทยในเนื้อหาเรื่อง Genetics คิดเป็น 28.91 จากคะแนนเต็ม 35 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 82.58 โดยมีคะแนนสูงสุดคือ 33 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 94.28 และคะแนนต่ำสุดคือ 20 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 57.28 ซึ่งจัดว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน ในภาพรวมแล้วนักเรียนร้อยละ 78.12 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับดี คือมีผลคะแนนทดสอบความรู้ในภาคภาษาไทยคิดเป็นร้อยละ 80 ขึ้นไป 
ผลการประเมินความคิดเห็นนักเรียน
       หลังการจัดกิจกรรมได้มีการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน โดยใช้แบบสอบถามจำนวน 10 ข้อ พบว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับดี (4.07) โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.59 – 4.39 นักเรียนให้คะแนนสูงสุดในการจัดการเรียนการสอนในเนื้อหาที่สอดคล้องตามหลักสูตรในขณะที่ความเห็นด้วยในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษมีค่าเฉลี่ยของระดับความคิดเห็นต่ำสุด
สรุปผลการศึกษา
จากการศึกษาการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษในหน่วยการเรียนเรื่องพันธุ- ศาสตร์ (Genetics) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ของนักเรียนโครงการพิเศษสามภาษา  (Multilanguage Program -MLP) นอกจากจะมีการผลิตสื่อที่ใช้สอนเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแสดงให้เห็นว่านักเรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาโดยช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับที่น่าพอใจผลการทดสอบหลังเรียนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและเป็นที่สังเกตว่าในระหว่างการจัดกิจกรรมการมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับครูในด้านการให้ความช่วยเหลือนักเรียนในการทำงานกลุ่มและการควบคุมชั้นเรียน นักเรียนจะให้ความสนใจและตั้งใจเรียนรวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำได้ค่อนข้างดีการเรียนมีรูปแบบคล้ายคลึงกับชั้นเรียนที่สอนโดยครูไทยขณะที่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษอาจกล่าวได้ว่าการเรียนการสอนเป็นไปโดยใช้สื่อภาษาสากล แต่คงไว้ซึ่งรูปแบบของความเป็นไทยและเกิดการผสมกลมกลืนอย่างลงตัวให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
ผลการทดสอบความรู้ภาคภาษาไทย นักเรียนทุกคนสามารถทำคะแนนได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้นักเรียนส่วนใหญ่มีผลคะแนนอยู่ในระดับดีแม้จะเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ครูไทยสอนมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนโดยจะช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางที่กำหนด บรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้ และลดความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรมเนื่องจากครูไทยจะเข้าใจธรรมชาติของนักเรียนและมีความยืดหยุ่นกว่า รวมทั้งมีการควบคุมระเบียบวินัยที่ดีกว่าซึ่งการจัดการเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
ในการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเนื้อหาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษพบว่าแม้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมของระดับความคิดเห็นจะอยู่ในระดับดีนักเรียนได้ให้น้ำหนักค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย (3.59) เมื่อเทียบกับข้ออื่นๆเนื่องจากนักเรียนกลุ่มทดลองเป็นนักเรียนในโครงการพิเศษสามภาษาที่มีความถนัดทางภาษา แม้นักเรียนจะมีความเข้าใจพื้นฐานโดยทั่วไปในการสื่อสารแต่เมื่อต้องเรียนเนื้อหาที่มีความซับซ้อน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเรียนรู้ได้ในเชิงลึก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนระดับสูงขึ้นต่อไปดังนั้นการใช้ครูไทยทำการสอนโดยผ่านสื่อภาษาอังกฤษจะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นการลดปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสอนโดยใช้ครูชาวต่างชาติอีกด้วย

นำเสนอใน
สัมนาวิชาการ World Class Standard Schools Regional Symposium:                   Partnership & Foreign Language Learning Conference, October 27,2011
การประกวดนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียoและทักษะในศตวรรษ21 24 มิ.ย. 2556 จ. ชุมพร

No comments:

Post a Comment