Wednesday, April 16, 2014

Integrated English in Science Study

บูรณาการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษ

          จากการทดลองสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษโดยใช้ครูผู้สอนคนไทย ในหน่วยการเรียนเรื่องพันธุศาสตร์ (Genetics) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของนักเรียนโครงการห้องเรียน  
สามภาษา (Multilanguage Program-MLP) มีข้อค้นพบหลายประการ รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัจจัยซึ่งจะทำให้เกิดความสำเร็จในการสอนเนื้อหาวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษซึ่งจะได้นำเสนอต่อไปนี้ ผลที่ได้รับในการศึกษาครั้งนี้นอกจากจะมีการผลิตสื่อการจัดการเรียนการสอนในหน่วยการเรียนเรื่อง Genetics เป็นภาษาอังกฤษแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของครูเพื่อนำไปใช้ในการสอนรวมทั้งมีศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนทั้งในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนของครู จากการศึกษาผลที่เกิดขึ้นในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแสดงให้เห็นว่านักเรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาที่ยากผ่านสื่อภาษาอังกฤษได้ในระดับที่น่าพอใจผลการทดสอบหลังเรียนมีค่าเฉลี่ยของคะแนนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเป็นที่สังเกตว่าในระหว่างการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน การปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนกับครูแตกต่างไปจากการเรียนกับครูชาวต่างชาติในด้านการควบคุมชั้นเรียน และการให้ความช่วยเหลือนักเรียนในการทำงานกลุ่ม นักเรียนจะให้ความสนใจ และตั้งใจเรียนรวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำได้ค่อนข้างดี และมีรูปแบบคล้ายคลึงกับชั้นเรียนที่สอนโดยครูไทยที่พบเห็นทั่วไปขณะที่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่าการเรียนการสอนเป็นไปโดยใช้สื่อภาษาสากลแต่คงไว้ซึ่งรูปแบบของความเป็นไทย และเกิดการผสมกลมกลืนอย่างลงตัวให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
ผลการทดสอบความรู้ภาคภาษาไทยนักเรียนทุกคนสามารถทำคะแนนได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยนักเรียนส่วนใหญ่มีผลคะแนนอยู่ในระดับดี  (ร้อยละ 80 ขึ้นไป) แบบทดสอบที่ใช้ในการสอบวัดความรู้ในครั้งนี้เป็นแบบทดสอบที่ใช้กับกลุ่มนักเรียนที่เรียนในโครงการปกติซึ่งใช้วัดและประเมินผลการเรียนกับนักเรียนในระดับชั้นเดียวกันที่เรียนกับครูผู้สอนที่เป็นคนไทย เมื่อทำการเปรียบเทียบกับข้อมูลทั่วไปอาจพอสรุปได้ว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่านสื่อภาษาอังกฤษได้ดีกว่าการใช้ครูชาวต่างชาติเป็นผู้สอน โดยเฉพาะเนื้อหาที่ยากแก่การทำความเข้าใจ นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ครูไทยสอนมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนโดยจะช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางที่กำหนด บรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้ และลดความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งพบได้บ่อยครั้งในการสอนของครูชาวต่างชาติ เนื่องจากครูไทยจะเข้าใจธรรมชาติของนักเรียน และมีกลวิธีในการสอนที่แยบยล หลากหลาย และยืดหยุ่นกว่า รวมทั้งมีการควบคุมระเบียบ วินัยที่ดีกว่าและปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดการเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งสิ้น
ในการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เนื้อหา
วิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษพบว่าแม้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมของระดับความคิดเห็นจะอยู่ในระดับดี นักเรียนได้ให้น้ำหนักค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย (3.59) เมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือนักเรียนกลุ่มทดลองเป็นนักเรียนในโครงการพิเศษ MLP ที่มีความถนัดทางภาษา แม้นักเรียนจะมีความเข้าใจพื้นฐานโดยทั่วไปในการสื่อสารแต่เมื่อต้องเรียนเนื้อหาที่มีความซับซ้อนอย่างเช่นวิทยาศาสตร์ ข้อจำกัดในการเรียนรู้อันเกิดจากอุปสรรคทางภาษาเช่นศัพท์เทคนิค (Terminology) ทำให้เกิดความยากลำบากในการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นความจำเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์หากครูไม่สามารถนำพานักเรียนให้ก้าวผ่านขั้นตอนนั้นไปได้ นักเรียนที่มีพื้นฐานทางภาษาไม่เพียงพออาจเกิดความเครียด เบื่อหน่ายการเรียน และปฏิเสธที่จะเรียนรู้ในที่สุด
ภาษาอังกฤษจัดเป็นภาษาต่างประเทศ (Foreign language) หรือภาษาที่สอง (Second language) รองจากภาษาหลักของประเทศคือภาษาไทยที่จำเป็นต้องเรียนรู้ตามหลักสูตรเพื่อใช้สำหรับติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ แต่ไม่ได้เป็นภาษาที่ใช้ในราชการ (Official language) ของประเทศไทย ดังนั้นหากไม่มีพื้นฐานทางภาษาที่ดีพอ การที่จะคาดหวังให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนอย่างคล่องแคล่ว ย่อมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่ได้ใช้เป็นประจำ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการเรียนรู้เนื้อหาที่ยากขึ้นอย่างเช่นวิชาวิทยาศาสตร์ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของทั้งครู และนักเรียนอย่างยิ่งในการที่จะจัดการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดหวังไว้ ภาพรวมของผลการประเมินความคิดเห็นของนักเรียนที่อยู่ในระดับดี อาจเนื่องมาจากความเข้าใจของครูที่มีต่อผู้เรียนในการจัดกิจกรรมได้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้โดยที่ภาษาไม่เป็นอุปสรรคสำคัญ ผลที่เกิดขึ้นคือจะไม่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในห้องเรียนมากเกินไป ครูสามารถใช้ภาษาไทยกับนักเรียนในกรณีที่นักเรียนต้องการคำอธิบายในเชิงลึก ทำให้ปัญหาทางด้านการใช้ภาษาในการสื่อสารลดลงหรือหมดสิ้นไป นอกจากนี้การลำดับเนื้อหาจากง่ายไปสู่ยาก การใช้กระบวนการกลุ่มและทำงานร่วมกัน การให้กำลังใจเมื่อนักเรียนปฏิบัติได้ตามที่ครูแนะนำและการประเมินผลที่ต่อเนื่องยังช่วยส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ปัจจัยความสำเร็จ
   ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์น่าจะประกอบด้วยหัวข้อหลักดังต่อไปนี้
1.  ครูผู้สอน
นอกจากครูผู้สอนต้องมีความรู้ในเนื้อหาที่จะทำการสอนเป็นอย่างดีแล้ว การที่จะใช้ภาษา
อังกฤษในการสอนได้ ครูควรมีทักษะพื้นฐานทางภาษาระดับหนึ่งเพื่อที่จะก่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้ภาษาที่ถูกต้องและต่อเนื่องซึ่งสามารถฝึกฝนทักษะเหล่านี้โดยการเตรียมตัวในการสอน การทำแผนการจัดการเรียนรู้ล่วงหน้า พร้อมกับสื่อการสอน เอกสารประกอบการสอน แบบทดสอบ ใบงาน แบบฝึก และการจัดกิจกรรมย่อยต่างๆ รวมทั้งการวางรูปแบบการวัดและประเมินผล ซึ่งควรจัดทำเป็นฉบับภาษาอังกฤษเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้ จะเห็นได้ว่าการเตรียมการสอนของครูต้องใช้เวลามากกว่าการสอนปกติ และต้องอาศัยความพยายาม ทักษะทางภาษา ความมุ่งมั่น และการทำงานที่ต่อเนื่อง เป็นระบบเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความคาดหวัง
2.   นักเรียน
การเลือกกลุ่มนักเรียนที่ค่อนข้างจะมีความพร้อมในการเรียน มีความสนใจใฝ่รู้ มีความสามารถพื้นฐานทางภาษา และสื่อสารได้ในระดับหนึ่งซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนักเรียนมีความเข้าใจในคำบรรยาย คำสั่ง คำแนะนำในการทำกิจกรรม และจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนที่ไม่ควรที่จะมากเกินไปซึ่งจะทำให้ครูดูแลได้อย่างทั่วถึงเมื่อนักเรียนปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม รวมถึงขั้นตอนในการติดตามวัดและประเมินผล
3.  การสอนเสริมในภาคภาษาไทย
ควรมีการทบทวนเนื้อหาโดยครูผู้สอนที่เป็นไทยเพื่อลดช่องว่างในการเรียนรู้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่เนื้อหาที่มีความซับซ้อนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเรียนและความเหมาะสมของระยะเวลา หากเป็นไปได้ควรมีการทบทวนอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอรวมทั้งมีการสอบวัดความรู้เมื่อจบเนื้อหาในแต่ละบทเรียนเพื่อผลในระยะยาวหากนักเรียนจำเป็นต้องใช้ความรู้ในการทดสอบภาคภาษาไทย
4.    การสอบวัดความรู้
นอกจากการวัดผลและประเมินผลที่ต่อเนื่องแล้วการสอบวัดความรู้ภาคภาษาไทยในเนื้อหาที่เรียนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันเนื่องจากการเรียนในระดับนี้เป็นความรู้เบื้องต้นในขั้นพื้นฐานที่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้เนื้อหาที่ยากขึ้นเมื่อต้องเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น นักเรียนควรสามารถนำความรู้ไปใช้เมื่อต้องทำข้อสอบเป็นภาคภาษาไทยเช่นการสอบเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นการสอบวัดความรู้จะช่วยให้นักเรียนได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทำแบบทดสอบ เพื่อให้ทราบระดับความสามารถของตนเองในเนื้อหาที่เรียนมา ดังนั้นการทดสอบความรู้ภาคภาษาไทยจึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งหากต้องการทราบว่านักเรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แม้ว่าการเรียนรู้นั้นจะเป็นการเรียนรู้ผ่านสื่อในภาษาอีกภาษาหนึ่งก็ตาม

                โดยสรุปแล้วในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อนับว่าเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของนักเรียนให้เต็มศักยภาพเพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล ตามหลักการของ World Class Standard ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของการจัดการศึกษาสมัยใหม่เพื่อให้ทันต่อยุคสมัยในปัจจุบัน ผลจากการศึกษาในครั้งนี้แสดงถึงความเป็นไปได้ในการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านสื่อการสอนที่ใช้ภาษาที่สองรวมทั้งทัศนคติที่ดีของนักเรียนต่อการจัดกิจกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลต่อความเป็นไปได้นี้ซึ่งได้แก่ครูผู้สอน ผู้เรียน ระบบการสนับสนุน และการควบคุมคุณภาพในการวัดผลและประเมินผลระยะยาว นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับแนวทางในการจัดการเรียนการสอนซึ่งแตกต่างกันตามบริบทของสถานศึกษา ดังนั้นการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งการติดตามผลที่ต่อเนื่องและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายทางการศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงาน ผลที่เกิดขึ้นในการพัฒนาบุคคลากรของประเทศตามนโยบายดังกล่าวอาจเป็นผลในระยะยาวและต้องอาศัยการศึกษาในเชิงวิจัยและพัฒนาควบคู่กันไปเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจ และกำหนดทิศทางในการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไปในอนาคต

บทความทางวิชาการ (2553) 

No comments:

Post a Comment